ตามรอยคำตอบมารีญา!! ทำไม “การลงทุนกับเด็ก” ถึงสำคัญกับ “สังคมผู้สูงอายุ”

กลับถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้วกับมารีญา พูลเลิศลาภ มารีญา พูลเลิศลาภ Miss Universe Thailand 2017 ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยในการยืนจับไมค์รอบ 5 คนสุดท้ายในรอบ 29 ปี ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำถามและตำตอบของเธอได้สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์และเสียงฮือฮาอย่างกว้างขวาง กระแสสังคมส่วนใหญ่มักพูดถึงในประเด็นคำถามอย่าง Social movement หรือการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ทั้งในตัวความหมายและตัวอย่างการเคลื่อนไหวมากมายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

แต่ในวันนี้ Way’s UP จะขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านมาตามรอยคำตอบของมารีญาเกี่ยวกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการลงทุนกับเด็กที่มารีญาได้เอ่ยถึงบนเวที Miss Universe และทั้งสองสถานการณ์มีความสำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย

มารีญา พูลเลิศลาภ ระหว่างตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้ายบนเวที Miss Universe

ดิฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุค่ะ แต่การเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือเยาวชน เพราะเยาวชนคืออนาคต การลงทุนกับเยาวชนคือสิ่งที่เราต้องทำ เพราะพวกเขาเหล่านั้นคือคนที่จะเข้ามาคอยดูแลโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ ขอบคุณค่ะ

แม้ในวันที่เธอเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ในการให้สัมภาษณ์สื่ออย่างเป็นทางการในครั้งแรก มารีญา ก็ยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนกับเยาวชนอยู่เช่นเดิม

อย่างที่มารีญาเคยพูดเอาไว้ตั้งแต่แรก อยากจะให้คนขยับมาฟังในเรื่องนี้ มาลงมือทำให้ด้านนี้ อยากให้คนมาลงทุนในเยาวชน ลงทุนในการศึกษา

สถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุ (Aging population) ในสังคมไทย

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ ปี 2548 และคาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้นถึง 19 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

เมื่อประชากรวัยสูงอายุมากขึ้นนั่นหมายความว่าภาระค่าใช้จ่ายและการดูแลของรัฐก็มีแนวโน้มสูงขึ้นไปด้วย เพราะประชากรสูงอายุส่วนใหญ่จะสุขภาพเสื่อมถอย รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำงานลดลงด้วย สถานการณ์เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม จึงเป็นความท้าทายของประเทศที่ต้องเตรียมความพร้อมประชาชนเพื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพตั้งแต่วัยทำงาน

การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรมีผลอย่างไร?

ไม่ใช่แค่การมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเท่านั้นที่มีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโครงสร้างประชากรไทย แต่ในทางเดียวกันในระหว่างปี พ.ศ.2553 –พ.ศ.2583 สัดส่วนของประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงาน มีแนวโน้มลดลง ซึ่งนั่นมีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะหมายความว่าเราจะมีคนในวัยแรงงานที่ทำงานขับเคลื่อนประเทศและรับหน้าที่ในการดูแลทั้งเด็กและผู้สูงอายุลดลง และวัยเด็กที่จะเติบโตมาเป็นวัยแรงงานก็มีแนวโน้มลดลงในอนาคตอีกด้วย 

จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 4.5 คนช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (4:1:1) จะกลายเป็นประชากรวัยทำงานประมาณ 2 คนจะต้องช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (2:1:1) ซึ่งจะสร้างความเครียดต่อภาระค่าครองชีพและภาระหน้าที่ที่คนหนุ่มสาวมีต่อครอบครัวและสังคมเป็นอย่างมาก

แล้วทำไมต้องลงทุนกับเด็ก?

การลงทุนกับเด็ก เป็นสิ่งที่กำลังมาแรงในยุคนี้ ยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่หลายประเทศในโลกเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วนั้น การหันมาลงทุนกับอนาคตของประเทศชาติและของโลกจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ แนวคิดการลงทุนกับเด็กไม่ใช่เรื่องแฟชั่นแต่รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องทำเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการพัฒนา คุ้มครอง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาและสาธารณสุขฟรี การมีนโยบายที่ให้ทั้งพ่อและแม่สามารถลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือน การสร้างสวัสดิการ เช่นเบี้ยแรกเกิด การปรับปรุงระบบนันทนาการ หลักสูตรในโรงเรียน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุนกับโครงการเด็กปฐมวัยที่จัดทำโดยศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮ็คแมนซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า การลงทุนกับโครงการเพื่อเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพนั้นให้ผลตอบแทนที่ให้ประโยชน์สูงกว่าเมื่อเทียบกับการทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาในภายหลัง และจะให้ผลตอบแทนกลับมาประมาณร้อยละ 7-10 ต่อปี ซึ่งนั่นหมายความว่าการลงทุนกับเด็กตั้งแต่ในช่วงต้นของชีวิตของเขาจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวในการสร้างบุคลากรวัยแรงงานที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนสังคมและดูแลผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต

รัฐต้องมีสวัสดิการรองรับ ประชาสังคมต้องขับเคลื่อน

ทั้งประเด็นสังคมผู้สูงอายุ และการลงทุนในเด็กนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐจำเป็นต้องรับหน้าที่หลักในการจัดสวัสดิการสังคม และนโยบายให้สอดคล้องกับการพัฒนาของสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันภาคประชาสังคมเองก็ได้พยายามขับเคลื่อนและเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานทั้งสองประเด็นอยู่ด้วยในขณะเดียวกัน โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่ปัจจุบันมีธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) ผุดขึ้นมามากมายเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ปัญหาของสังคม ตัวอย่างเช่น ForOldy ที่มีร้านคุณตาคุณยายเพื่อให้เช่า และซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุในราคาย่อมเยาว์เพื่อให้ท่านได้มีโอกาสใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น  นอกจากร้านคุณตาคุณยายแล้ว ForOldy ยังต่อยอดสู่ศูนย์เพลินวัย เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะทำกิจกรรมร่วมกันทุกเดือน เช่น โยคะสำหรับผู้สูงอายุ นิมนต์พระมาสอนธรรมะ เป็นต้น

 

อรนุช เลิศกุลดิลก ผู้ริเริ่มกิจการเพื่อสังคม ForOldy และร้านคุณตาคุณยาย /ภาพจาก ForOldy


เราจะเห็นว่าการลงทุนกับเด็กนั้นเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสถานการณ์สังคมไทยที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเรียบร้อย นอกจากภาครัฐที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว การเข้ามาของภาคประชาสังคมต่างๆ รวมทั้งการนำประเด็นดังกล่าวมาพูดถึงบนเวที Miss Universe ของมารีญาเองก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและทำให้ประเด็นเหล่านี้เป็นที่สนใจได้เป็นอย่างดี

มากไปกว่านั้นการให้ความสนใจในประเด็นแม่วัยใสและการท้องก่อนวัยอันควรของเด็กสาวในประเทศไทยก็เป็นอีกกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชากรเด็กที่เกิดมามีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เพราะข้อมูลจาก Girl Not Bride อ้างอิงจาก UNICEF ระบุว่าเด็กหญิงที่คลอดลูกก่อนที่ร่างกายของเขาจะเติบโตพร้อมกับการมีบุตรนั้นจะเป็นอันตรายอย่างมากทั้งต่อตัวแม่และลูก ซึ่งจากข้อมูลสถิติระบุว่าลูกที่เกิดจากแม่วัยใสนั้นมีอัตราการรอดชีวิตเพียง 50% ของเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ดังนั้นการทำงานในเรื่องนี้ของมารีญาก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนกับเด็กที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

“ตอนนี้ได้กลับมาไทยแล้ว รู้สึกว่ามีคนฟังมารีญามากขึ้น มารีญามีเวทียิ่งใหญ่มากตอนนี้ อยากจะรวมพลังของทุกคนมาช่วยมารีญาในเรื่องการท้องก่อนวัยอันควร เพราะเคยพูดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้เป้าหมายของมารีญาคือโครงการนี้ อยากทำทุกอย่างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้เร็วขึ้น ดีใจที่จะได้ทำและหวังว่าทุกคนจะสนับสนุนมารีญาในเรื่องนี้

ข้อมูลจาก

สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย (ด้านประชากร)

การลงทุนในเด็กเพื่ออนาคตของประเทศไทย

forOldy อาสาสร้างสุข ผู้สูงวัย

ภาพหน้าปกบทความโดย: Siripong Sawatsuntisuk

ติดตามเรื่องราวดีๆจาก Way’s UP กดไลค์เลยยย

(Visited 500 times, 1 visits today)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *