เมื่อฉันได้สัมผัสกับ “โรฮิงญา” นี่คือ “โรฮิงญา” ที่ฉันรู้จัก

ย้อนกลับไป มิถุนายน ปี 2558 เหตุการณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาผู้ล่องเรือผ่านมาทางทะเลอันดามันได้เกิดขึ้นท่ามกลางหลากหลายความคิด กระแสสังคมในขณะนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มาของคนโรฮิงญาว่าเป็นผลผลิตจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ความเกลียดชังถูกถ่ายทอดไปกว้างขวางในโลกอินเตอร์เน็ต แปลกใจจัง ทำไมคนเราถึงเกลียดกันได้ทั้งที่ไม่รู้จักกันเลยสักนิด

จากวิกฤติในวันนั้นถึงวิกฤติรอบล่าสุดในวันนี้ที่มีชาวโรฮิงญากว่าแสนคนต้องลี้ภัยสงครามไปยังประเทศบังคลาเทศ เป็นระยะเวลาสองปีที่เราและเพื่อนได้สัมผัสและรู้จักกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “โรฮิงญา” ผ่านการทำงานโดยตรงกับชาวโรฮิงญาที่ได้รับการช่วยเหลือและอยู่ในสถานดูแลของประเทศไทย เป็นเวลาเดียวกันที่ความเกลียดชังรอบใหม่ การถกเถียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และพฤติกรรมของชาวโรฮิงญาถูกจุดปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ตรงกับคนโรฮิงญา ได้ทำงาน ได้กินข้าว ได้รับฟังเรื่องราวของเขาจากปาก เราเชิญเพื่อนๆ มาเพื่อพูดคุยกันอีกครั้งว่าจริงๆ แล้วตัวตนที่แท้จริงของคนโรฮิงญาคือใคร และเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ปานฝัน ประโมจนีย์ ผู้ที่มีชื่อจริงและชื่อเล่นเหมือนกัน ปัจจุบันก็ยังทำงานใกล้ชิดกับชาวโรฮิงญากับองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง

บุ๋ม ชนาภา สุภชาติ นักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต ผู้ที่ปัจจุบันทำงานกับเด็กผู้ก้าวพลาด ณ บ้านกาญจนาภิเษก

วันนี้เราสามคนนั่งคุยกันเพื่อทบทวนเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาตลอดเวลาที่เราได้ใกล้ชิดกับพี่น้องโรฮิงญาว่าแท้ที่จริงแล้วพวกเขาคือใคร และต่างกันมากมายแค่ไหนกับภาพที่ใครหลายคนกำลังสร้างและกระจายซ้ำพวกเขาในอินเตอร์เน็ต

ถ้าให้นิยามโรฮิงญาที่รู้จักมากว้างๆ จะบอกว่าเขาคือใคร?

ปานฝัน: “เป็นคน เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่คนอื่นมองว่าเขาไม่ปรับตัว หัวรุนแรง แต่ความจริงคือมันคือเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตได้ เมื่อไม่ถูกยอมรับว่าเป็นพลเมืองตั้งแต่เกิด คุณก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง”

บุ๋ม: “เป็นคนปกติ ที่มีศาสนา ความเชื่อที่เราไม่เคยรับรู้ แต่พอมาวันหนึ่งที่เขาต้องเดินเข้ามาหาเรา มันแปลกสำหรับเรา ความไม่คุ้นชินเลยทำให้เรากลัว”

เห็นด้วยหรือไม่กับการที่ชาวเน็ตบอกว่าคนกลุ่มนี้เรื่องมาก ไม่รู้จักปรับตัว

ปานฝัน: “คือข่าวเวลานำเสนอก็มักนำเสนอเฉพาะช่วงแรก ช่วงที่มีปัญหา ซึ่งในช่วงแรกเป็นช่วงที่เขาเข้ามาใหม่ อะไรก็ใหม่ไปซะหมด คุณลองนึกภาพกลุ่มคนที่ถูกกันให้อยู่แค่ในที่ที่หนึ่ง ออกนอกหมู่บ้านก็โดนทำร้าย ไม่ก็โดนฆ่าตาย เขาอยู่แค่ตรงนั้น มันมีวัฒนธรรม ความเชื่อ ความจริงที่เขาเห็นอยู่เพียงชุดเดียว พอวันหนึ่งเขานั่งเรือมาอีกประเทศหนึ่ง อีกสังคมหนึ่ง ภาษาก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ถูกจับเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำกัดอีก คือมันเป็น culture shock มันธรรมดาที่เขาจะต่อต้าน หรือปฏิเสธโลกใบใหม่ที่เพิ่งเห็น การปรับตัวมันต้องใช้เวลา”

ตอนนี้สองปีแล้ว ใครบอกว่าโรฮิงญาไม่ปรับตัวนี่ไม่จริง เขาปรับตัวมาตลอด เขาเรียนรู้และทำได้ดีในระดับหนึ่งเลย

บุ๋ม: “ที่จริงเขาไม่ได้เรื่องมากนะ เราอ่ะคิดไปเองว่าเขาเรื่องมาก เพราะเราเอามาตรฐานหรือความเคยชินของเราไปครอบพวกเขา เราใช้ความเป็นเราไปตัดสินเขาว่าเรื่องมาก ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้ขออะไรเกินเลยไปจากความต้องการพื้นฐาน ที่มันสอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนา หรือวัฒนธรรมของเขาเลย”

ปานฝัน: “2 ปีที่ผ่านไปในไทย เขาเรียนรู้ที่จะรักษาความสะอาดของร่างกายตัวเอง เขารู้จักการใช้ห้องน้ำ กล้าที่จะใช้ผ้าอนามัย รู้จักกับเครื่องซักผ้า สิ่งเหล่านี้มันแสดงให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเชื่อใจและให้เวลาเขา”

คิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของคนไทยในการมองภาพของคนโรฮิงญาตอนนี้คืออะไร

ปานฝัน: “เราไม่รู้จักเขาจริงๆ แต่เราตัดสิน ติดป้ายและขยายความเชื่อแบบนั้นกันไปแล้ว เราเห็นการกระทำ แต่เราไม่รู้เหตุผล เช่น เรื่องที่บอกว่าเขาเอาลูกเต็มบ้านเต็มเมือง คือใช่ เขาลูกดก เพราะตามความเชื่อทางศาสนาเขาคุมกำเนิดไม่ได้ แต่มากไปกว่านั้นเราลืมมองไปว่าอยู่ที่ยะไข่ เขาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะสุข เขาไม่มีความรู้เรื่องคุมกำเนิด เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เขาอยู่ในสังคมที่มีความจำกัดมาก”

เราตัดสินจากสิ่งที่เห็น แต่ไม่เคยถามกลับว่าเพราะอะไรที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น

ถ้าพูดกันจริงๆ มันมีบ้างไหมที่เขามีปัญหากัน

บุ๋ม: “มันมีจริง เช่นทะเลาะวิวาท ทำลายข้าวของ หรือหลบหนี แต่เราต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ตรงนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเขา เขาต้องอยู่ท่ามกลางความเครียดที่ไม่รู้ชะตากรรมชีวิต และใครก็ให้คำตอบเขาไมไ่ด้ คือมันมีที่มาที่ไปของอารมณ์และพฤติกรรมเหล่านั้น”

เรามองแค่ผลลัพธ์แต่ลืมคิดย้อนไปว่ากว่าที่จะถึงจุดที่ทำลายข้าวของ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าที่จะกักตุนอาหาร เขาต้องผ่านความอดอยากมามากขนาดไหน

แล้วในฐานะคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับคนโรฮิงญามุมมองที่มีต่อพวกเขาเป็นแบบไหน

บุ๋ม: “รู้สึกแม่ง ไม่ยุติธรรมเลย ที่ตอนเกิดมาเขาก็ร้องอุแว้เหมือนเด็กทั่วไป แต่แค่มีนามสกุลโรฮิงญาต่อท้าย ชะตาชีวิตของเค้าก็ถูกตัดสินแล้ว คือมันทำให้รู้สึกว่าไม่ว่าเราจะเหมือนกันมากขนาดไหน แต่แค่เกิดมาผิดที่ ผิดชาติพันธุ์ ชีวิตจะต้องถูกกำหนดให้ต้องหนีตาย แล้วไม่มีใครเอา แล้วถูกทำให้น่ากลัว น่ารังเกียจเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่เนื้อแท้ของคุณก็เหมือนกับเราทุกคนนั่นก็คือ คน”

แล้วจากที่ได้สัมผัสและรู้จักพวกเขามาคิดว่าคนโรฮิงญาอยากให้เรามองเขาแบบไหน

ปานฝัน: “จากประสบการณ์ที่เขาต้องเจอทำให้เขารู้สึกว่าไม่ค่อยมีใครมาดีกับเขาจริงๆ เขาเป็นผู้รับมาตลอด มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่เท่าคนอื่น เขาไม่ดีอะไรเลย บางคนกลัวที่จะบอกว่าตัวเองเป็นโรฮิงญา แต่พอเราปฏิบัติกับเขาอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติเขา รับฟังเขา คุยกันอย่างเพื่อน มันทำให้เขารู้สึกมีค่าขึ้น เขาไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้จากคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่โรฮิงญาด้วยกันตอนที่เขาอยู่ที่ยะไข่ เวลามีคนนอกปฏิบัติแบบนั้นมันมีคุณค่าสำหรับเขามาก ”

เขาจับมือและบอกเราว่า ไม่เคยมีใครปฏิบัติกับเขาอย่างที่เขาเป็นมนุษย์จริงๆ เลย เขาขอบคุณเราที่ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีคุณค่า

 

หญิงสาวชาวโรฮิงญาเดินเข้ามาจับมือและกล่าวขอบคุณในวันที่โครงการให้การช่วยเหลือที่ทำอยู่ปิดตัวลง

มี Moment ไหนในการทำงานที่ประทับใจและอยากแบ่งปันบ้าง

บุ๋ม: “มึงจำวันนั้นได้มั้ย วันที่มึงให้น้องชายหนุ่มโรฮิงญาตัดผมให้ ชายหนุ่มที่มีแต่คนว่าเขาเกเรและเป็นตัวเฟี้ยว ตอนที่มึงบอกว่า ตัดผมให้พี่หน่อย เขายิ้มแบบดีใจมาก คือมันแสดงออกว่าเขาดีใจที่มึงยอมรับและไว้ใจเขา กูนั่งดูอยู่ เห็นชัดว่าเขาละเอียดละออและตัดให้มึงอย่างดีที่สุด ตอนนั้นมีกองเชียร์ข้างๆ คอยกำกับเยอะมากว่าตัดให้สวยๆ นะ ตอนมึงตัดอยู่ก็มีคุณลุงเอาผ้ามาเช็ดไรผมให้ คือเขาก็เอ็นดูเราเหมือนลูกหลาน”

เวลาเราให้เกียรติเขา เขาก็ให้เกียรติเรากลับ มนุษย์มันมีพื้นฐานร่วมกันแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน

 

ภาพวันที่ชายหนุ่มชาวโรฮิงญาบรรจงตัดผมให้กับเราอย่างสุดความสามารถ

แล้วตอนนี้สถานการณ์ของคนโรฮิงญาที่ยังอยู่ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ปานฝัน: “คนที่เคยอยู่ในสถานดูแลส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่กันแล้ว ตอนนี้ก็ยังมีคนที่ตกค้างอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง ที่ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ตอนนี้เขาได้มีโอกาสเข้าไปเรียนในโรงเรียนไทยตามสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาที่รัฐไทยมอบให้กับเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ตอนนี้เขาพูดไทยกันคล่อง เขามีข้าวกินอิ่มทองเริ่มฟื้นฟูตัวเองจนพอที่จะหยิบยื่นให้คนอื่น

เด็กโรฮิงญาในวันนี้คือคนที่ช่วยทำความสะอาดสถานดูแล ตัดหญ้าจนเตียนและทาสีรั้วบ้านใหม่ ตัดแต่งกิ่งต้นไม้จนกลมป๊อกโดนไม่ต้องร้องขอหรือออกคำสั่ง เด็กโรฮิงญาที่อาสาช่วยพยุงเพื่อนที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงขึ้นลงตึกเรียน เด็กโรฮิงญาที่วิ่งเก่งจนเป็นตัวแทนโรงเรียนและขยันในชั้นเรียนจนครูไทยกล่าวชม แม่ๆ สาวๆ ที่พยายามปรับตัวแม้จะไม่ได้เร็วเท่าเด็กๆ ที่ได้ออกไปโรงเรียน แต่ก็ได้เห็นถึงความพยายาม

สำหรับทั้งสองคนแล้วสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาได้ให้บทเรียนอะไรไว้บ้าง

บุ๋ม: “สิ่งที่ได้กับตัวเองเลยคือเราลดความเชื่อและอคติส่วนตัวลงได้มาก เราได้เปิดใจยอมรับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต่างเกิดมามีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนๆ กัน พอมาได้รู้จักพวกเขาจริงๆ เรามองว่าเราทุกคนเท่ากัน”

พอมาเจอจริงๆ ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ควรตัดสินใคร เพราะฟังคนอื่นพูดต่อๆ กันมาโดยที่ยังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขาเลย

ปานฝัน: “มันเป็นการยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อ ยืนยันว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนนั้นมันสำคัญ เพราะถ้าเราไหลไปตามกระแส เราก็จะเป็นหนึ่งในวงของปัญหาที่มันไม่จบสิ้น เราต้องยึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อ”


โรฮิงญาที่เราได้เห็นและสัมผัสคือมนุษย์ที่ผูกพันกับแผ่นดินเกิด รักครอบครัวเป็นที่หนึ่ง มีความเชื่อมั่นในศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่ามกลางวิกฤติทางด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงอีกครั้งหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้าน และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาค

สำหรับพวกเขาแล้วคงไม่มีอะไรจะมีค่าไปกว่าการที่คนได้เป็นคน จากประสบการณ์ที่ผ่านมามันแสดงให้เห็นว่าเมื่อเราปฎิบัติกับเขาด้วยความเท่าเทียม มองว่าเขาคือคน คือเพื่อน คือน้องของเรา เปิดใจและให้เวลากับเขา สิ่งที่ได้กลับมามันคือความภาคภูมิใจของเราในการสร้างคนกลุ่มหนึ่งที่มีคุณภาพและพร้อมจะหยิบยื่นอะไรบางอย่างกลับมาให้กับสังคมของเราในวันที่เขาพร้อม และนั่นก็เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราทุกคนสามารถร่วมสร้างให้เกิดขึ้นได้

ภาพประกอบโดย: Siripong Sawatsuntisuk

เนื้อหาบางส่วนจาก: Panfun Pramojanee

ติดตามเรื่องราวดีๆจาก Way’s UP กดไลค์เลยยย

(Visited 26,504 times, 1 visits today)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *