ออกสู่สายตาคนทั้งโลกแล้วกับคลิปเปิดตัวมารีญา พูนเลิศลาภ Miss Universe Thailand 2017 จากประเทศไทยในรายการ Road to the Crown (เส้นทางสู่มงกุฎ) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการจากเพจทางการของกองประกวด Miss Universe โดยทางรายการได้เลือกคลิปของมารีญาลงเป็นคนแรกอีกครั้ง ซึ่งตอกย้ำว่ากองประกวด Miss Universe กำลังเล่นกับกระแสของนางงามไทยของเราโดยตรง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางองค์กรเลือกให้มารีญาเป็น “คนแรก” ในกิจกรรมต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ ในวันแรกของการเดินทางถึงกองประกวดมารีญาก็ถูกเลือกให้เป็นคนแรกที่ได้มีโอกาส Live ร่วมกับผู้สนับสนุนหลักของกองประกวดอย่าง CHI ในเพจ Facebook และ Instagram หลักของกองประกวดมาแล้ว
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือภายในคลิปความยาว 0.56 นาทีได้บอกเล่าเบื้องหลังทางการศึกษา เหตุผลที่มารีญามาประกวด และเป้าหมายในการเข้ามาเป็น Miss Universe ได้อย่างน่าสนใจ และใครที่มีโอกาสได้ดูคงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยน้ำเสียง แววตา กิริยา ที่มารีญาสื่อสารภายในคลิปนั้นมันแสดงออกซึ่งความจริงใจ และทัศนคติที่เหมาะสมและคู่ควรกับตำแหน่ง Miss Universe จริงๆ
ในวันนี้ Way’s UP จึงขอตามรอยคำพูดมารีญาในคลิปเปิดตัวจากรายการ Road to the Crown ที่จัดทำและเผยแพร่โดยกองประกวด Miss Universe และคลิป Get to Know More About: Maria Poonlertlarb ที่ทางกองประกวด Miss Universe Thailand จัดจำขึ้นก่อนมารีญาเดินทางเข้าประกวดเวทีโลก เพื่อดูว่าสถานการณ์แม่วัยใสในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
“การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ปัญหาที่มารีญาให้ความสนใจ
โดยสถิติที่เผยแพร่โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2559 ได้เผยแพร่ว่าประเทศไทยมีอัตรา “ท้องไม่พร้อม” สูงเป็นดับ 2 ในอาเซียน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 – 14 ปี และ 15 – 19 มีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2556 – 2558
ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศ และฉันคิดว่าฉันสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็น”ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”
จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS) พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า 46.9 % ของวัยรุ่นไม่ได้ต้องการมีบุตรในขณะตั้งครรภ์ โดย 85% ของวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีความยากจน
สาเหตุและปัจจัยในการตั้งครรภ์
เมื่อเห็นข่าวว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงขึ้น มารีญาคิดว่ามันมีบางอย่างไม่ถูกต้อง ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ พวกเขาสามารถค้นคว้าข้อมูล เห็นได้ทุกอย่าง แต่พวกเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้อย่างถูกต้อง
จากการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นจาก UNICEF ในปี 2558 ระบุสาเหตุและปัจจัยหลักๆ ในการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นประกอบไปด้วย
- ขาดความรู้ และได้รับข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ และวิธีการคุมกำเนิด
- ไม่ใช้อุปกรณ์การคุมกำเนิดหรือใช้ไม่สม่ำเสมอ
- บรรทัดฐานทางเพศ และการตีตราทางสังคมเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงการคุมกำเนิดและบริการอนามัยเจริญพันธุ์
- ทัศนคติและพฤติกรรมเชิงลบ ของครู พ่อแม่ ผู้ให้บริการเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สังคมสงเคราะห์ และการสื่อสารกับวัยรุ่น
ตั้งครรภ์ในวัยเรียนสู่การออกจากโรงเรียนกลางคัน
ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าวัยรุ่นไทยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะตั้งครรภ์มากน้อยเพียงใด เพราะในระบบโรงเรียนยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิตินี้อย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลสถิติทางการศึกษา พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐานพบว่า เด็กหญิงจำนวน 946 คน และเด็กชายจำนวน 125 คน “ต้องออกจากโรงเรียนเพราะการแต่งงาน”
บางครั้งเด็กๆ ที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถูกกีดกันออกจากสังคม ทำให้พวกเขาต้องหยุดตามความฝันและต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน มารีญาอยากจะช่วยให้น้องๆ กลุ่มนั้นได้กลับเข้ามาสู่สังคม ได้กลับเข้ามาเรียน ได้กลับเข้ามาสู่หนทางที่จะตามหาความฝันของเขาต่อไปได้
สิทธิวัยรุ่นภายใต้พรบ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพ.ศ. 2559
โดยในพรบ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพ.ศ. 2559 ได้ให้ความหมายและสิทธิของวัยรุ่นซึ่งเป็นบุคคลอายุ 10 – 19 ปี ไว้ว่า วัยรุ่นมีสิทธิ
- ตัดสินใจด้วยตัวเอง
- ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและความรู้
- ได้รับบริการการอนามัยเจริญพันธุ์
- ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม
- ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค
- ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว
มารีญาอยากจะให้เด็กวัยรุ่น รวมทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงรับรู้ถึงสิทธิและความรับผิดชอบของตัวเอง เพราะเราทุกคนต่างมีบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และเคารพซึ่งกันและกัน
ข้อขอบคุณข้อมูลจาก
มติชน: ไทย‘ท้องไม่พร้อม’สูงอันดับ2ในอาเซียน อายุน้อยสุด10ขวบ รามาฯตั้งคลินิกให้คำปรึกษาทั้งระบบ
กรมอนามัยเจริญพันธุ์
ขอขอบคุณภาพจาก
Miss Universe Thailand
ภาพหน้าปกบทความโดย: Siripong Sawatsuntisuk
(Visited 4,347 times, 1 visits today)